เขื่อนภูมิพล

ข้อมูลทั่วไป

ในปี พ.ศ. 2494 ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลในขณะนั้นมีแนวคิดที่จะสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งสามารถนำไฟฟ้าเข้าสู่ระบบได้อย่างรวดเร็ว จึงมีการจัดตั้ง “คณะกรรมการพิจารณาสร้างโรงไฟฟ้าทั่วราชอาณาจักร” ขึ้น เพื่อสำรวจพื้นที่สร้างโรงไฟฟ้าทั่วประเทศ ซึ่งพบว่าในลำน้ำ ปิงบริเวณหุบเขาย่านรีหรือยันฮี อำเภอสามเงา จังหวัดตาก มีความเหมาะสม ต่อการสร้างเขื่อนเป็นอย่างยิ่ง นำมาสู่การสร้าง “เขื่อนยันฮี” ขึ้นในปี พ.ศ. 2496 และในปีเดียวกันนี้เองก็มีการตั้ง “การไฟฟ้ายันฮี” (กฟย.) เพื่อรับผิดชอบการสร้างเขื่อน และผลิตไฟฟ้าให้กับภาคกลางและภาคเหนือ

ปี พ.ศ. 2500 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานพระปรมาภิไธยให้เป็นชื่อเขื่อนว่า “เขื่อนภูมิพล” และในวันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2507 ได้เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เพื่อทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนและทรงกดปุ่มขนานเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องที่ 1 เข้าระบบ และนับตั้งแต่วันนั้น โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนภูมิพลก็ได้ทำหน้าที่ผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขของคนไทยมาโดยตลอด

สถานที่ตั้ง

บริเวณเขาแก้ว อ.สามเงา จ.ตาก

 

 
 

ลักษณะเขื่อนและโรงไฟฟ้า

เขื่อนภูมิพลเป็นเขื่อนคอนกรีตโค้งเพียงแห่งเดียวของประเทศไทย สร้างปิดกั้นลำน้ำปิงที่บริเวณ เขาแก้ว อำเภอสามเงา จังหวัดตาก มีรัศมีความโค้ง 250 เมตร สูง 154 เมตร ยาว 466 เมตร ความกว้างของสันเขื่อน 6 เมตร อ่างเก็บน้ำมีความจุสูงสุด 13,462 ล้านลูกบาสก์เมตร จัดเป็นเขื่อนคอนกรีตโค้งที่ใหญ่และสูงสุดในเอเชียอาคเนย์

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จพระราชดำเนินทรงวางศิลาฤกษ์การก่อสร้าง เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2504 การก่อสร้างในระยะแรกประกอบด้วยงานก่อสร้างตัวเขื่อน ระบบส่งไฟฟ้า และอาคารโรงไฟฟ้า ซึ่งได้ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องที่ 1-2 กำลังการผลิตเครื่องละ 70,000 กิโลวัตต์ สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม และ 15 มิถุนายน 2507 ตามลำดับ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดเขื่อน เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2507

ต่อมาได้ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องที่ 3-6 กำลังการผลิตเครื่องละ 70,000 กิโลวัตต์ และเครื่องที่ 7 กำลังการผลิต 115,000 กิโลวัตต์ สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ในวันที่ 11 พฤษภาคม และ 19 สิงหาคม 2512 และวันที่ 18 ตุลาคม 2525 ตามลำดับ

เพื่อเป็นการยืดอายุการใช้งานของเครื่องกำเนิดไฟฟ้าออกไป ในปี 2531 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้ทำการปรับปรุงเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องที่ 1-2 ทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นอีก เครื่องละ 6,300 กิโลวัตต์ สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าระบบได้เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2535 และพฤศจิกายน 2536 ตามลำดับ ส่วนการปรับปรุงเครื่องที่ 3-4 ทำให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น เท่ากับเครื่องที่ 1-2 แล้วเสร็จ สามารถจ่ายไฟเข้าระบบได้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ และสิงหาคม 2540 ตามลำดับ

นอกจากนั้นในปี 2534 กฟผ. ได้ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องที่ 8 แบบสูบกลับ ขนาดกำลังการผลิต 171,000 กิโลวัตต์ และก่อสร้างเขื่อนแม่ปิงตอนล่าง เพื่อใช้อ่างเก็บน้ำเป็นอ่างล่าง สามารถจ่ายกระแส ไฟฟ้าเข้าระบบได้ในเดือนมกราคม 2539 ทำให้โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนภูมิพล มีกำลังการผลิตติดตั้งทั้งสิ้น 731,200 กิโลวัตต์ ให้พลังงานไฟฟ้าปีละ 1,062 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง

เครื่องกำเนิดไฟฟ้าได้รับการพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่องจนปัจจุบันมีกำลังการผลิตสูงสุด 779.2 เมกกะวัตต์ โดย เครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องที่ 1-6 มีกำลังการผลิตสูงสุด 82.2 เมกกะวัตต์ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องที่ 7 มีกำลังการผลิต 115 เมกกะวัตต์ เครื่องกำเนิดไฟฟ้าเครื่องที่ 8 มีกำลังการผลิต 171 เมกกะวัตต์

เขื่อนแม่ปิงตอนล่าง เป็นเขื่อนขนาดเล็กชนิดดินถมแกนดินเหนียวปิดทับด้วยหน้าหินทิ้ง สร้างปิดกั้นลำน้ำปิง ห่างจากเขื่อนภูมิพลลงมาทางท้ายน้ำ 5 กิโลเมตร ความยาวเขื่อน 200 เมตร สูง 12 เมตรจากท้องน้ำ ความกว้างสันเขื่อน 10 เมตร ระดับสันเขื่อน 142.00 เมตร รทก.

อาคารระบายน้ำเป็นคอนกรีตเสริมเหล็ก กว้าง 28 เมตร ยาว 144 เมตร สูง 14 เมตร ช่องระบายน้ำ 10 ช่อง กว้างช่องละ 10.5 เมตร อ่างเก็บน้ำมีความจุ 4.92 ล้านลูกบาศก์เมตร ก่อสร้างแล้วเสร็จ ในเดือนธันวาคม 2538 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อน เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2538

ประโยชน์

นอกเหนือจากการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อสนองความต้องการของประเทศแล้ว เขื่อนภูมิพล เริ่มกักเก็บน้ำและบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ปี พ.ศ. 2507 โดยกักเก็บน้ำในช่วงฤดูฝน เพื่อนำมาบริหารจัดการให้เพียงพอ กับความต้องการในช่วงฤดูแล้ง สามารถจัดสรรน้ำเพื่อการเกษตรได้กว่า 10 ล้านไร่ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดตาก กำแพงเพชร และนครสวรรค์ นอกจากนั้นน้ำที่ระบายออกจากเขื่อน ยังใช้ประโยชน์ในการรักษาระบบนิเวศ เช่น ผลักดันน้ำเค็มในพื้นที่บริเวณปากอ่าวไทย และยังเขื่อนภูมิพล ยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดตาก

พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุยเดช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จมายังเขื่อนภูมิพล 4 ครั้ง

  • ครั้งที่ 1 วันที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2501

    ทรงเสด็จตรวจเยี่ยมการก่อสร้างเขื่อนภูมิพลที่เพิ่งเริ่มโครงการ

  • ครั้งที่ 2 วันที่ 24 มิถุนายม พ.ศ. 2504

    เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์และเสด็จทอดพระเนตรการขุดเจาะอุโมงค์ผันน้ำ

  • ครั้งที่ 3 วันที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2507

    เสด็จทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนภูมิพลบนสันเขื่อน หลังจากนั้นเสด็จลงลิฟท์มายังห้องควบคุมการผลิตกระแสไฟฟ้าทรงกดปุ่มเครื่องกำเนิดไฟฟ้าตัวที่ 1

  • ครั้งที่ 4 วันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2513

    ทรงปลูกต้นสัก ณ บริเวณสวนดอก

การดูแลด้านสังคม

เขื่อนภูมิพลได้มุ่งมั่นทำงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคม ชุมชนและสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานเพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืนและการทำงานเชิงเครือข่ายร่วมกับชุมชน ตลอดจนพันธมิตรต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร โดยมีโครงการที่โดดเด่น ดังนี้

  • โครงการเปิดเขื่อนภูมิพลสู่ชุมชนลุ่มน้ำปิง – วัง
  • โครงการสื่อสารชุมชนรอบเขื่อน

มุ่งเน้นการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพแก่ชุมชมรอบโรงไฟฟ้า

โครงการรวมพลคนอาสาร่วมพัฒนาชุมชนและโครงการส่งเสริมอาชีพชุมชน มุ่งส่งเสริมให้ผู้ปฏิบัติงานและชุมชนมีความตระหนักถึงการทำงานแบบจิตอาสา ร่วมทั้งเน้นเรื่องของการสร้าง และขยายเครือข่ายการทำงานแบบจิตอาสาของผู้ปฏิบัติงานเขื่อนภูมิพลทุกคน เพื่อมาร่วมกันสละแรงกาย ทุ่มเทแรงใจ ช่วยกันทำงานเพื่อส่วนร่วม เพื่อสร้างการยอมรับและการอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างกัลยาณมิตร

  • โครงการรวมพลคนอาสาร่วมพัฒนาชุมชน
  • โครงการส่งเสริมอาชีพชุมชน

กิจกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

  • สนับสนุนโครงการล้างแอร์ช่วยชาติ
  • จัดโครงการ "ส่งเสริมสุขภาพทันตกรรมรอบเขื่อนภูมิพล" เพื่อส่งเสริม และสนับสนุนให้ประชาชนรอบเขื่อนภูมิพลมี สุขอนามัยช่องปากที่ดี ณ อาคารเกษมจาติกวณิช เขื่อนภูมิพล และศาลาเอนกประสงค์ วัดชลประทานรังสรรค์
  • จัดโครงการ “ทำความดีถวายในหลวง ครองราชย์ครบ 70 ปี และเฉลิมพระชนมพรรษาพระราชินี ครบ 7 รอบ” ณ ศาลาสิริชล เขื่อนภูมิพล
  • จัดโครงการเสริมทักษะความรู้ เปิดประตูสู่มหาวิทยาลัย
  • จัดโครงการแว่นแก้ว ครั้งที่ ๔๑๖ ณ หอประชุมอำเภอเมือง จ.แม่ฮ่องสอน
  • จัดโครงการฝึกอบรม ส่งเสริมชุมชนเข้มแข็ง..สร้างเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน

การเดินทาง

ระยะทางจากกรุงเทพมหานครไปยังจังหวัดตาก 425 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางโดยรถยนต์ ประมาณ 7 ชั่วโมง ไปตามทางหลวงหมายเลข 1 (พหลโยธิน) แยกซ้ายที่วังน้อย เข้าทางหลวงหมายเลข 32 สายบางปะอิน-นครสวรรค์ ผ่านจังหวัดกำแพงเพชรแล้วตรงเข้าจังหวัดตาก และจากตัวเมืองไปยังเขื่อนภูมิพลเป็นระยะทางอีก 61 กิโลเมตร โดยเส้นทางที่สะดวกและนิยมใช้กันคือ ไปตามทางหลวงหมายเลข 1 ถึงกิโลเมตรที่ 463 จะมีทางแยกซ้ายเข้าเขื่อนภูมิพล ประมาณ 17 กิโลเมตร หรืออาจใช้เส้นทางหมายเลข 1107 ผ่านทางแยกไปเจดีย์ยุทธหัตถีอีก 25 กิโลเมตร

สถานที่ท่องเที่ยว

  • วนอุทยานไม้กลายเป็นหิน
  • วัดพระบรมธาตุ
  • ผาสามเงา
  • วัดชลประทานรังสรรค์

ของดีรอบเขื่อน

  • เขื่อนแม่ปิงตอนล่าง

    เป็นเขื่อนขนาดเล็กสร้างกั้นแม่น้ำปิงห่างจากเขื่อนภูมิพลมาทางด้านท้ายน้ำ 5 กิโลเมตร ก่อให้เกิดอ่างเก็บน้ำแม่ปิงตอนล่าง ตัวเขื่อนประกอบด้วยโครงสร้างใหญ่ 2 ส่วนติดกัน คือส่วนที่เป็นคอนกรีตซึ่งประกอบด้วยอาคารระบายน้ำกับส่วนที่เป็นเขื่อนดินแกนดินเหนียวปิดทับด้วยหินทิ้ง ยาว 200 เมตร ความกว้างสันเขื่อน 10 เมตร

  • สวนเฉลิมพระเกียรติ

    ตั้งอยู่ฝั่งขวาของเขื่อนแม่ปิงตอนล่าง จัดสร้างเพื่อถวายเป็นราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ใน พ.ศ.2539 มีพื้นที่ 16 ไร่ ภายในสวนประกอบด้วยต้นราชพฤกษ์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำพระองค์ นอกจากนั้นยังมีพันธุ์ไม้อีกหลายชนิดที่จะเน้นหนักไปในโทนสีเหลือง จุดเด่นซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของสวนนี้ คือ แปลงไม้ประดับซึ่งปลูกเป็นรูปพระนามาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. โดยสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนจากระยะไกล

  • สวนน้ำพระทัย

    อยู่ภายในบริเวณเขื่อน สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2530 เพื่อแสดงความจงรักภักดีและสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ 5 รอบ ภายในสวนมีสิ่งที่น่าสนใจ คือ ประติมากรรมสำริด ธารน้ำพุ ซุ้มน้ำต้น และซุ้มกล้วยไม้พื้นเมือง โครงการสวนน้ำพระทัยเป็น 1 ใน 3 โครงการที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้รับอนุมัติให้ใช้ ตราสัญลักษณ์พระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม พ.ศ. 2530

  • อาคารอเนกประสงค์เฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

    เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ที่จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ในวันที่ 5 ธันวาคม 2542 โดยแบ่งพื้นที่เป็นส่วนที่ 1 จัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับการก่อสร้างเขื่อนภูมิพล, ส่วนที่ 2 จัดแสดงนิทรรศการเรื่องราวขององค์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และพระบรมวงศานุวงศ์ทุกพระองค์ กับบทบาทการพัฒนาแหล่งน้ำ และส่วนที่ 3 จัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับ "สายอากาศพระราชทาน" ซึ่งบอกเล่าถึงความเป็นมาของสายอากาศพระราชทาน และพระมหากรุณาธิคุณขององค์พระบาทสมเด็จพระองค์ท่านที่ทรงมีต่อการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในเรื่องสายอากาศ ส่วนบนชั้นลอยภายในอาคาร เก็บรวบรวมหนังสือเกี่ยวกับพระราชประวัติ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และมีหนังสือสารานุกรมไทยในแต่ละภาค โดยมีมุมให้สามารถนั่งอ่านหนังสือ พร้อมทั้งมีแผ่นซีดีรอม และเครื่องคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถ ศึกษาหาข้อมูลการก่อสร้างเขื่อนภูมิพลได้

  • อาคารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ

    เป็นอาคารที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯพระบรมราชินีนาถ เสด็จประทับแรมครั้งแรก เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2501 เพื่อเสด็จตรวจเยี่ยมหัวงานการสร้างเขื่อนภูมิพล และเพื่อเปลี่ยนอิริยาบถ นอกจากนี้ในยามเย็น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จลงสรงในแม่น้ำปิงเพื่อผ่อนคลาย ก่อนเสด็จพระราขดำเนิน ทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์ เขื่อนภูมิพล เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2504 โดยอาคารนี้ทางกรมชลประทานจัดสร้างขึ้นเพื่อถวายเป็นที่ประทับแรม (เรือนรับรองพิเศษ) และภายหลังปรับปรุงเป็นสถานที่ใช้จัดแสดง เกี่ยวกับการจัดการน้ำฯ แล้วยังใช้ประโยชน์หลายๆด้าน จนสุดท้ายก็ได้รับการบูรณะ เป็นห้องแสดงของใช้ส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จนถึงปัจจุบัน

  • “ต้นสัก” ทรงปลูก

    วันพุธที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2513 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินออก ณ บริเวณที่ประทับแรมเขื่อนภูมิพล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงปลูกต้นสัก สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงปลูกต้นราชพฤกษ์ ณ บริเวณสวนดอก ซึ่งเดิมเป็นสวนดอกไม้ที่มีความสวยงาม และเป็นพื้นที่เพาะพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับต่างๆ รวมถึงเป็นที่ทรงปลูกต้นไม้ของ ร.10 และราชวงศ์ต่างๆที่เสด็จฯเยือนเขื่อนภูมิพล

  • ตลาดลานโพธิ์

    เป็นตลาดอยู่บริเวณใกล้สามแยกขึ้นไปสันเขื่อน ขายสินค้าจำพวกของฝาก เช่น ของกินพวกปลาแห้ง ผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำในอ่างเก็บน้ำ และสินค้าโอทอป รวมทั้งมีร้านอาหารให้นั่งรับประทานอย่างผ่อนคลาย

  • เขาคิชฌกูฎผาหินตัด

    ผาหินตัดเป็นเส้นทางเดินทัพของพระมหากษัตริย์หลายพระองค์จากภาคกลางไปภาคเหนือ อีกทั้งเมื่อครั้งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จประทับแรมที่ตำหนักรับรองเขื่อนภูมิพลและ ได้เสด็จมาทอดพระเนตรทิวทัศน์บนยอดผาหินตัดแห่งนี้ด้วย ผาหินตัดเป็นหินไนส์ ไซลูเรียน-ดีโวเนียน พบแนวรอยแตกที่ตัดตั้งฉากกับแกนชั้นหินคดโค้ง แนวแตกนี้ถือเป็นโครงสร้างที่เกิดจาก การเปลี่ยนลักษณะของหินในสภาวะเปราะบาง โดยปรากฏเป็นระนาบเนื่องจากแรงดึง ที่ทำให้หินแตกออกจากกัน โดยมีระนาบการแตกตั้งฉากกับแรงดึง และในบริเวณดังกล่าวมีรอยพระพุทธบาทจำลอง พระปางไสยาสน์ พระปางสมาธิ และพระปางเปิดโลก ให้พุทธศาสนิกชนได้กราบไหว้ สักการะบูชา พร้อมชมทัศนียภาพมุมสูงของเขื่อนแม่ปิงตอนล่าง

  • วัดพระบรมธาตุแก่งสร้อย

    เป็นวัดเก่าแก่และมีความสำคัญยิ่งในแม่น้ำปิง ตั้งอยู่บริเวณริมเขื่อนภูมิพล อ.สามเงา จ.ตาก เป็นวัดหนึ่งในแคว้นเขตดินแดนแห่งล้านนาไทย เป็นดินแดนที่อยู่ในหุบเขาลำเนาไพร รถไม่สามารถเข้าไปได้ ใช้เส้นทางน้ำคือนั่งเรือไปอย่างเดียว และยังเป็นเส้นทางที่พระมหากษัตริย์หลายพระองค์ที่เคยเสด็จผ่าน

  • วัดพระพุทธบาทเขาหนาม

    ตั้งอยู่บนดอยในเกาะกลางอ่างเก็บน้ำ ห่างจากสันเขื่อนประมาณ 5 กิโลเมตร ภายในวัดมีพุทธสถานให้นมัสการหลายจุด เช่น รอยพระพุทธบาท ศาลาประดิษฐานองค์พระประธาน และเสาอโศกจำลอง ซึ่งตามตำนานนั้น เสาอโศกของจริงสร้างโดยพระเจ้าอโศกมหาราช เพื่อเป็นเครื่องบูชาองค์พระพุทธเจ้า และแสดงถึงการหยุดทำสงครามทางโลก แต่หันมาทำสงครามทางธรรมแทน

  • เกาะวาเลนไทน์

    เป็นเกาะเล็กๆ มีหาดทราย สามารถเล่นน้ำได้ นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางไปเที่ยวเกาะทั้งสองได้โดยเช่าเรือจากเขื่อนภูมิพลล่องไปตามลำน้ำใช้เวลาประมาณ 30 นาที

  • เขาคันเบ็ด

    เป็นเขาที่มีรูปร่างสูงยาวคล้ายจอมปลวก เป็นประติมากรรมทางธรรมชาติที่สวยเด่นอยู่ติดกับลำน้ำทอดเงาลงมาสวยงามมาก ห่างจากเขื่อนฯ ประมาณ 35 กม.

  • ถ้ำโยคี

    เป็นถ้ำที่ถูกปิดมานานและเพิ่งถูกค้นพบ อยู่ห่างจากเขื่อนฯ ประมาณ 25 กม. เป็นถ้ำศักดิ์สิทธิ์ที่ภายในถ้ำมีหินงอกหินย้อยที่มีความงดงามดุจดั่งเพชรส่องประกายแพรวพราวระยิบระยับ ซึ่งเป็นสิ่งที่ธรรมชาติสร้างขึ้น ในสมัยอดีต ถ้ำแห่งนี้เคยเป็นที่ภาวนาธรรมของพระฤาษี ด้านบนเหนือถ้ำมีรอยพระบาทเล็ก ๆ ซึ่งได้มีการสร้างวิหารน้อยครอบไว้ ปัจุจบัน กฟผ. เข้าไปติดตั้งระบบแสงสว่าง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวที่ไปเยี่ยมชม