เขื่อนนฤบดินทรจินดา

เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดโครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (เขื่อนห้วยโสมง) บ้านแก่งยาว ต.แก่งดินสอ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ถือเป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่แห่งสุดท้ายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙

โครงการอ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา เป็นเขื่อนดินสูง 32.75 เมตร กว้าง 9 เมตร ยาว 3,967.51 เมตร เก็บกักน้ำได้ 295 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จทั้งโครงการในปี พ.ศ. 2563 จะสามารถขยายพื้นที่ชลประทานได้ 111,300 ไร่ นอกจากจะช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วม ภัยแล้ง รวมทั้งช่วยรักษาระบบนิเวศ ผลักดันน้ำเค็ม น้ำเน่าเสีย ในแม่น้ำปราจีนบุรี และแม่น้ำบางปะกง ในช่วงฤดูแล้งเป็นประจำเกือบทุกปี

ที่สำคัญ ยังทำหน้าที่เป็นแนวกันชนป้องกันการบุกรุกทำลายป่าไม้ ในเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน และอุทยานแห่งชาติปางสีดา ซึ่งเป็นพื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ รวมทั้งเป็นแหล่งน้ำที่ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นในพื้นที่ป่าไม้ได้อีกประการหนึ่ง รวมทั้งเป็นแหล่งน้ำสำหรับให้ราษฎรใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคได้ตลอดทั้งปี ตลอดจนเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดปราจีนบุรีได้อีกด้วย

22 มกราคม พ.ศ. 2521 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระราชดำริเกี่ยวกับโครงการห้วยโสมงเป็นครั้งแรก โดยให้กรมชลประทานพิจารณาวางโครงการชลประทานประเภทอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำห้วยพระปรงและลุ่มน้ำห้วยโสมงซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำปราจีนบุรี 

โดยเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2559 ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานชื่ออ่างเก็บน้ำว่า “อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา” (อ่านว่า นะ-รึ-บอ-ดิน-ทระ-จิน-ดา) มีความหมายว่า “อ่างเก็บน้ำที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”

ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2532 โดยกรมชลประทานได้เริ่มทำการศึกษา สำรวจ ออกแบบ และจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (EIA) แต่เมื่อปี พ.ศ. 2548 อุทยานแห่งชาติปางสีดา และ อุทยานแห่งชาติทับลาน ซึ่งมีอาณาเขตบางส่วนติดกับพื้นที่โครงการ ได้รับการประกาศเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ จึงชะลอการดำเนินการโครงการเพื่อจัดทำรายงานการศึกษาเพิ่มเติม โดยผนวกการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมรดกโลกทางธรรมชาติเข้าไปด้วย

27 ตุลาคม พ.ศ. 2552 คณะรัฐมนตรี มีมติอนุมัติให้เริ่มดำเนินการ ค่าก่อสร้างทั้งโครงการ 8,300 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 9 ปี ตั้งแต่ พ.ศ. 2553 ถึง พ.ศ. 2561 ประกอบด้วย เขื่อนหัวงาน ชนิดเขื่อนดินแบบ แบ่งโซน (Zone Type Dam) สูงประมาณ 32.75 เมตร ยาวประมาณ 3,967 เมตร ขนาดความจุประมาณ 295 ล้านลูกบาศก์เมตร และทำนบปิดช่องเขาต่า 2 แห่ง รวมทั้งระบบส่งน้ำ และระบบระบายน้ำ ครอบคลุมพื้นที่ชลประทาน 111,300 ไร่

อย่างไรก็ตาม แม้ในขณะนี้งานก่อสร้างยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่ก่อสร้างตัวเขื่อนแล้วเสร็จ และเก็บกักน้ำได้ตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2559 ทำให้สามารถช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในจังหวัดปราจีนบุรี โดยเฉพาะตลาดเก่ากบินทร์บุรี ต่อเนื่องไปถึงอำเภอศรีมหาโพธิ และอำเภอเมืองปราจีนบุรี รวมทั้งในฤดูแล้ง ยังระบายน้ำเพื่อผลักดันและแก้ปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาในแม่น้ำปราจีนบุรีได้เป็นอย่างดีอีกด้วย

สำหรับประชาชนทั่วไป อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา เป็นสถานที่ท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจแห่งใหม่ ที่สามารถเข้ามาเที่ยวชมความงดงามของอ่างเก็บน้ำที่มีภูเขาอยู่เบื้องหลังได้ตลอดทั้งปี อีกทั้งยังใกล้แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่อยู่ใกล้เคียง เช่น อุทยานแห่งชาติปางสีดา น้ำตกปางสีดา ซึ่งอยู่ห่างจากโครงการประมาณ 40 กิโลเมตร

การเดินทางสู่อ่างเก็บน้ำนฤบดินทรจินดา 

ห่างจากตัวอำเภอกบินทร์บุรีประมาณ 45 กิโลเมตร เส้นทางที่สะดวกที่สุด คือ จากสี่แยกกบินทร์บุรี ให้ไปตามทางหลวงหมายเลข 304 (กบินทร์บุรี-ปักธงชัย) มุ่งหน้าไปทาง จ.นครราชสีมา ประมาณ 22 กิโลเมตร ผ่านสถานีอนามัยทุ่งโพธิ์ และสวนนงนุชปราจีนบุรี ให้กลับรถที่หลักกิโลเมตรที่ 22 เลี้ยวซ้ายเข้าถนนทางหลวงชนบท สก. 3039 ตรงไปอีก 15 กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าสู่โครงการห้วยโสมง อันเนื่องมาจากพระราชดำริไปอีก 5.5 กิโลเมตร ถึงตัวโครงการ

ที่ตั้ง

 
 

 

 
 

 

สำหรับการเดินทางจากกรุงเทพฯ ถึงสี่แยกกบินทร์บุรี มีดังนี้

- เส้นทางที่ 1 ใช้ถนนวิภาวดีรังสิต ถนนพหลโยธิน ถนนรังสิต-นครนายก ถึงตัวเมืองนครนายก ใช้ถนนสุวรรณศร ถึงสี่แยกกบินทร์บุรี

- เส้นทางที่ 2 ใช้ถนนรามอินทรา ผ่านมีนบุรี ข้ามสะพานทางรถไฟเลี้ยวซ้ายเข้าเมืองฉะเชิงเทรา ตรงไปข้ามแม่น้ำบางปะกง ถึงสี่แยกแล้วเลี้ยวซ้าย ผ่านพนมสารคาม เขาหินซ้อน ถึงสี่แยกกบินทร์บุรี

- เส้นทางที่ 3 ใช้ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) ออกด่านบางปะกง ไปตามถนนสิริโสธร แยกขวาถนนเลี่ยงเมืองฉะเชิงเทรา ถึงสี่แยกแล้วตรงไป ผ่านพนมสารคาม เขาหินซ้อน ถึงสี่แยกกบินทร์บุรี