เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

         เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เป็นโครงการตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่ทรงดำริให้สร้างเขื่อนเพื่อเก็บกักน้ำและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เป็นเขื่อนดินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานนามว่า “เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์” และเสด็จทรงเปิดเขื่อนฯ เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2542

ความเป็นมา

         “แม่น้ำป่าสัก” เป็นแม่น้ำสายสำคัญที่สุดสายหนึ่งของชาวจังหวัดลพบุรีและสระบุรี ประชาชนจะได้ประโยชน์จากแม่น้ำป่าสักอย่างมหาศาล ไม่ว่าจะเป็นด้านเกษตรกรรมหรือการประมง แต่ในช่วงเดือนสิงหาคม ถึงเดือนตุลาคมของทุกปี จะเกิดน้ำท่วมฉับพลันในหลายพื้นที่ของจังหวัดลพบุรี เช่น ตำบลมะนาวหวาน ตำบลหนองบัว อำเภอพัฒนานิคม ตำบลลำนารายณ์ อำเภอชัยบาดาล และหมู่บ้านใกล้เคียงอีกรวมไปถึงจังหวัดสระบุรี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา กรุงเทพมหานคร และปริมาณฑล สำหรับในช่วงเดือนมกราคม ถึงเดือนพฤษภาคม พื้นที่ในลุ่มน้ำป่าสักก็จะประสบภาวะแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำใช้เพื่อการเกษตรและอุปโภค บริโภค

         ในปี พ.ศ. 2508 กรมชลประทานได้เริ่มศึกษาโครงการเขื่อนเก็บกักน้ำแม่น้ำป่าสัก แต่เนื่องจากค่าใช้จ่ายสูงจึงได้ระงับโครงการฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงมีพระราชกรณียกิจมากมายหลายด้าน แต่หลายครั้งที่พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมาเยี่ยมราษฎรจังหวัดลพบุรีด้วยความห่วงใย และได้เสด็จไปทอดพระเนตรพื้นที่ในเขตอำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรีที่กำลังประสบปัญหาอยู่

         ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกล และด้วยความห่วงใยในพสกนิกรของพระองค์ ด้วยพระอัจฉริยภาพที่ล้ำลึก และเป็นพระมหากษัตริย์นักพัฒนาที่ยิ่งใหญ่ ทรงแก้ปัญหาให้ “ความโหดราย” ของแม่น้ำป่าสักกลับกลายเป็น “ความสงบเสงี่ยม” ที่น่านิยม พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงหาทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2532 พระองค์ท่านได้มีพระราชดำริให้กรมชลประทานดำเนินการศึกษาความเหมาะสมของโครงการเขื่อนกักเก็บน้ำแม่น้ำป่าสักอย่างเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาความขาดแคลนน้ำ เป็นประโยชน์ต่อพื้นที่เพาะปลูก และบรรเทาอุทกภัยที่เกิดขึ้น

ที่ตั้ง

         บ้านหนองบัว ตำบลหนองบัว อำเภอพัฒนานิคม จังหวัดลพบุรี และบ้านคำพราน ตำบลคำพราน อำเภอวังม่วง จังหวัดสระบุรี

 
 

 

 
 

อุทกวิทยา

พื้นที่รับน้ำฝนเหนือที่ตั้งเขื่อน 14,520 ตารางกิโลเมตร
ปริมาณน้ำท่าเฉลี่ย (ปี 2498-2535) 2,400 ล้าน ลบ.ม./ปี
ปริมาณน้ำนองสูงสุด 3,900 ลบ.ม./วินาที

อ่างเก็บน้ำ

ระดับกักเก็บน้ำสูงสุด +43 ม.รทก.
ระดับเก็บกักปกติ +42 ม.รทก.
ความจุอ่างเก็บน้ำ 785 ล้าน ลบ.ม.

อาคารระบายน้ำล้น

ประเภท โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็กควบคุมด้วยประตูบานโค้ง
จำนวนประตูระบายน้ำ 7 บาน
ขนาดบานระบาย (กว้างxสูง) 12.5 x 8 เมตร
ความสามารถระบายน้ำ ความสามารถระบายน้ำ 3,900 ลบ.ม./วินาที

เขื่อนเก็บกักน้ำ

ประเภท เขื่อนดินแกนดินเหนียว
ระดับสันเขื่อน +46.5 ม.รทก.
ความยาว 4,860 เมตร
ความสูง 31.5 เมตร

 

โรงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์

         โรงไฟฟ้าพลังน้ำป่าสักชลสิทธิ์ เป็นโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยกับกรมชลประทาน ในการใช้ประโยชน์จากน้ำในเขื่อนของกรมชลประทานให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามยุทธศาสตร์ด้านพลังงานของรัฐบาลประกาศในเดือนกันยายน พ.ศ. 2546 ที่กำหนดให้มุ่งเน้นส่งเสริมและพัฒนาการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) เพื่อลดการนำเข้าพลังงานจากต่างประเทศ

         ในเดือนธันวาคม 2546 คณะรัฐมนตรีได้ประกาศนโยบายส่งเสริมให้มีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กบริเวณท้ายเขื่อนของกรมชลประทานเพื่อผลิตไฟฟ้าจากการปล่อยน้ำตามปกติของกรมชลประทานอยู่แล้ว โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้รับผิดชอบ โดยให้กระทรวงพลังงานเป็นผู้สนับสนุนด้านเทคนิคการวางแผนและการพัฒนา ในการนี้กรมชลประทานและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งได้รับมอบหมายจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงพลังงานตามลำดับ ได้ร่วมกันพิจารณาดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ตามยุทธศาสตร์ดังกล่าว โดย กฟผ. แสดงเจตจำนงจะพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำขนาดเล็กท้ายเขื่อนชลประทาน 6 แห่ง ซึ่งมีกำลังการผลิตรวมกัน 78.7 เมกะวัตต์ กฟผ. ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีให้ดำเนินการก่อสร้างโครงการดังกล่าว เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2549 ซึ่งโรงไฟฟ้าพลังน้ำท้ายเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์เป็นหนึ่งใน 6 โครงการที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้ด้วย

 

ลักษณะโรงไฟฟ้า

         ประกอบด้วยอาคารโรงไฟฟ้าคอนกรีตเสริมเหล็ก ตั้งอยู่บริเวณฝั่งขวาของอาคารระบายน้ำเดิม (River Outlet) ขนาดกว้าง 22.50 เมตร ยาว 40.50 เมตร สูง 38.60 เมตร มีกำลังผลิตติดตั้ง 6.70 เมกะวัตต์ จำนวน 1 เครื่อง ประเภทเครื่องกังหันน้ำ S-Type ความสูงน้ำออกแบบ 13.50 เมตร ปริมาณน้ำออกแบบ 55.00 ลบ.ม./วินาที ไฟฟ้าที่ผลิตได้จะส่งต่อให้กับระบบสายส่งขนาด 22 กิโลโวลท์ โรงไฟฟ้าจะสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เฉลี่ยปีละประมาณ 34.80 ล้านหน่วยกิโลวัตต์-ชั่วโมง

 

ประโยชน์

  1. ลดการใช้เชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
  2. ผลิตพลังงานไฟฟ้าสะอาดได้เฉลี่ย 34 ล้านหน่วย/ปี
  3. ลดการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงจากต่างประเทศได้ปีละ 8.5 ล้านลิตร
  4. ส่งเสริมการศึกษาวิจัยด้านการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน
  5. ทำให้กำลังผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในระบบผลิตไฟฟ้ารวมของประเทศ
  6. เกิดการจ้างงานท้องถิ่น ในระหว่างการก่อสร้าง
  7. สร้างความมั่นคงในระบบไฟฟ้าของ อำเภอพัฒนานิคม และเขตใกล้เคียง
  8. เพิ่มศักยภาพด้านการท่องเที่ยวให้แก่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์