เขื่อนแก่งกระจาน

เพชรบุรีเป็นเมืองเก่าแก่ เคยเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญชั้นเมืองลูกหลวงของไทยมาช้านานและมีชื่อเสียงเลื่องลือหลายด้าน นอกจากจะเคยเป็นเมืองที่ประทับของอดีตพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีแล้ว ยังมีสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญหลายแห่ง ซึ่งรวมทั้งเขื่อนเพื่อการชลประทานและผลิตไฟฟ้าที่สำคัญและมีความงดงาม นั่นคือ เขื่อนแก่งกระจาน

สถานที่ตั้ง

ตั้งอยู่ที่บริเวณเขาเจ้าและเขาไม้รวกประชิดกัน ตำบลแก่งกระจาน อำเภอแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี อยู่ทางด้านเหนือน้ำของเขื่อนเพชรขึ้นไปตามถนน 27 กิโลเมตร

 
 

 

 
 

การเดินทาง

เขื่อนแก่งกระจานอยู่ห่างจากตัวเมืองเพชรบุรี 53.5 กิโลเมตร การเดินทางสามารถไปได้ 2 ทาง คือไปทางอำเภอท่ายาง เดินทางต่อไปอีกประมาณ 30 กิโลเมตร ก็จะถึงเขื่อน หรือไปตามทางหลวงหมายเลข 4 ประมาณหลักกิโลเมตรที่ 186-187 จะมีทางแยกขวามือเข้าไปอีกประมาณ 30 กิโลเมตร

ลักษณะเขื่อนและโรงไฟฟ้า

เขื่อนแก่งกระจานเป็นเขื่อนดินแห่งแรกของประเทศไทย ตัวเขื่อนเริ่มการก่อสร้างในปี พ.ศ. 2504 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2509 โดยพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดเขื่อนแก่งกระจานเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2509 ซึ่งเป็นเขื่อนดินสูง 58 เมตร สันเขื่อนยาว 760 เมตร กว้าง 8 เมตร ระดับสันเขื่อน +106 เมตร รทก. นอกจากนี้ยังมีเขื่อนดินปิดเขาต่ำทางขวางเขื่อนอีก 2 แห่ง คือแห่งแรกสูง 36 เมตร สันเขื่อนยาว 305 เมตร แห่งที่ 2 สูง 24 เมตร สันเขื่อนยาว 255 เมตร สามารถเก็บกักน้ำได้มากขึ้น อ่างเก็บน้ำมีพื้นที่ 46.5 ตารางกิโลเมตร ความจุ 710 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่ออำนวยประโยชน์ในด้านการชลประทานบริเวณที่ราบจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งยังให้ประโยชน์ด้านการประมง การคมนาคมทางน้ำ และการพักผ่อนหย่อนใจ

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยได้เข้ามาดำเนินการติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าที่เขื่อนแก่งกระจาน จำนวน 1 เครื่อง ขนาดกำลังผลิต 19,000 กิโลวัตต์ ให้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยปีละ 70 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง โดยเริ่มดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2514 แล้วเสร็จและผลิตไฟฟ้าได้ เมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2517 ซึ่งมีสายส่งไฟฟ้าจากเขื่อนแก่งกระจาน ไปยังสถานีไฟฟ้าแรงสูงชะอำเป็นระยะทาง 40-41 กิโลเมตร และเนื่องจากใช้ผลิตไฟฟ้ามายาวนาน จึงได้มีการปรับปรุงโรงไฟฟ้าใหม่ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 ทำให้การผลิตไฟฟ้ามีประสิทธิภาพดีขึ้น

  • เขื่อนแก่งกระจานสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้ 19,000 กิโลวัตต์ ให้พลังงานเฉลี่ยประมาณปีละ 70 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง
  • สามารถขยายพื้นที่ชลประทานของโครงการเพชรบุรี ซึ่งเดิมมีอยู่จำนวน 214,000ไร่ เพิ่มเป็น 336,000 ไร่ และเพื่อการเกษตร การเพาะปลูกในฤดูแล้งได้ 174,000 ไร่ รวมทั้งยังช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค ตั้งแต่ปากอ่าวเพชรบุรีจนถึงหัวหินให้หมดไป และช่วยบรรเทาอุทกภัยในทุ่งเพชรบุรีด้วย
  • เป็นแหล่งส่งเสริมการประมง
  • เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดเพชรบุรี

สถานที่ท่องเที่ยว

  • ถ้ำเขาย้อย อยู่บนเขาย้อย อำเภอเขาย้อยห่างจากตัวเมือง 22 กิโลเมตร ในถ้ำมีพระพุทธรูปต่างๆประดิษฐานอยู่ และที่แห่งนี้เคยเป็นที่ประทับนั่งกรรมฐานของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อครั้งทรงผนวช
  • เขาวัง อยู่ในอำเภอเมือง สูง 92 เมตร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสร้างพระราชวังขึ้นบนเขาวังสำหรับเป็นที่แปรพระราชฐาน พระราชทานนามว่า "พระนครคีรี" แต่ชาวเมืองยังคงเรียกเขาวังติดปากมาจนถึงทุกวันนี้
  • เขาบันไดอิฐ เป็นเขาขนาดย่อม สูง 92 เมตร อยู่ห่างจากเขาวังประมาณ 2 กิโลเมตร บนเขาบันไดอิฐมีวัดเก่าสมัยอยุธยาชื่อ "วัดเขาบันไดอิฐ" บนเขามีถ้ำอยู่หลายแห่ง เช่น ถ้ำประทุน ถ้ำพระเจ้าเสือ ถ้ำพระพุทธไสยาสน์ เป็นต้น
  • ถ้าเขาหลวง อยู่บนเขาหลวง สูง 92 เมตร ห่างจากเขาวังประมาณ 5 กิโลเมตร ถ้ำเขาหลวงนับเป็นถ้ำใหญ่และสำคัญที่สุดของเมืองเพชรบุรี เพราะภายในถ้ำเป็นที่ประดิษฐาน พระพุทธรูปฉลองพระองค์อันสำคัญยิ่ง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดให้สร้างถวายพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
  • หาดเจ้าสำราญ อยู่ห่างจากตลาดเพชรบุรีประมาณ 15 กิโลเมตร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญมาแต่โบราณ มีประวัติเล่ากันว่าสมเด็จพระนเรศวรมหาราชเคยเสด็จฯมาประทับที่นี่ พร้อมด้วยสมเด็จพระเอกาทศรถพระอนุชา ทรงพอพระราชหฤทัยในความงามของหาดแห่งนี้มาก ทรงประทับแรมอยู่หลายวันจนชาวบ้านเรียกหาดนี้ว่า "หาดเจ้าสำราญ" มาจนทุกวันนี้
  • หาดชะอำ อยู่ในอำเภอชะอำ ห่างจากตัวเมือง 41 กิโลเมตร เป็นชายหาดที่มีความงดงามมากอีกแห่งหนึ่งของเพชรบุรี
  • อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อยู่ห่างจากที่ทำการอำเภอแก่งกระจานประมาณ 2 กิโลเมตร เป็นอุทยานแห่งชาติที่มีพื้นที่มากที่สุดในประเทศไทย มีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์ เป็นป่าต้นน้ำของแม่น้ำเพชรบุรีและแม่น้ำปราณบุรี และมีลักษณะเด่นทางธรรมชาติที่สำคัญหลายแห่ง เช่น ทะเลสาบ น้ำตก ถ้ำ หน้าผาที่สวยงาม ส่วนใหญ่จะเป็นที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ เช่น นั่งเรือชมทิวทัศน์รอบอ่างเก็บน้ำเขื่อนแก่งกระจาน กางเต็นท์พักแรมริมอ่างเก็บน้ำ พายเรือคายักเที่ยวเล่นชมวิว เดินข้ามสะพานแขวนไปชมเกาะกลางน้ำ ชมอุทยานวังมัจฉา น้ำตกทอทิพย์ ทะเลหมอก ดูนก ผีเสื้อ และอีกมากมาย
  • ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง เรือนจำชั่วคราวเขากลิ้ง อยู่ในเส้นเดินทางถนนสายเพชรบุรี-แก่งกระจาน จุดเด่นคือ การสร้างบ้านดิน ใช้ดินเป็นวัสดุก่อสร้าง มีรูปแบบแปลกตาสวยงาม แข็งแรงทนทาน ป้องกันความร้อนได้ดี อีกทั้งยังมีศูนย์ฝึกวิชาชีพการเกษตร ที่มีทั้งการปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ ผลิตพลังงานทดแทนสำหรับใช้ในเรือนจำ รวมไปถึงการทำหัตถกรรมจักสานจากไม้ไผ่ รวมๆ แล้วกว่า 30 ฐานให้เรียนรู้
  • โครงการชั่งหัวมันตามพระราชดำริ ตั้งอยู่ในอำเภอท่ายาง เกิดขึ้นจากความเอาพระทัยใส่ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่ทรงมีต่อเกษตรกร ภายในโครงการมีแปลงเกษตรสาธิต การทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ พิพิธภัณฑ์ดิน กังกันลม ฟาร์มโคนม และร้าน Golden Place จำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรในโครงการ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีบริการรถพานำชมทั่วไร่พร้อมวิทยากรบรรยายตามแต่ละจุด อีกทั้งมีจักรยานรองรับผู้เข้าชมและห้องชมวีดิทัศน์ของโครงการอีกด้วย
  • พระราชนิเวศน์มฤคทายวัน อยู่ระหว่างชะอำ-หัวหิน แยกซ้ายมือเข้าไปประมาณ 2 กิโลเมตร เคยเป็นที่ประทับแปรพระราชฐานของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในฤดูร้อน

เขื่อนแก่งกระจานได้รับการปรับปรุงให้สวยสดงดงามไว้คอยต้อนรับนักท่องเที่ยวทุกท่าน หากท่านได้มีโอกาสเดินทางไปจังหวัดเพชรบุรี เชิญแวะเข้าไปเยี่ยมชมหรือพักแรม ณ เขื่อนแห่งนี้ ท่านจะได้พบกับความสงบเงียบท่ามกลางความงดงามของเขื่อน และทัศนียภาพของทะเลสาบที่โอบล้อมด้วยขุนเขาน้อยใหญ่อันเป็นความงามของธรรมชาติโดยแท้จริง