เขื่อนพระรามหก

 เขื่อนพระรามหก เป็นเขื่อนทดน้ำแห่งแรกในประเทศไทย เริ่มสร้างเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน พ.ศ.2459 ก่อสร้างเสร็จทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ.2467 โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เขื่อนนี้สร้างกั้นแม่น้ำป่าสักที่ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตัวเขื่อนมีช่องระบายน้ำ ทำด้วยบานเหล็ก 6 ช่อง กว้างช่องละ 12.50 เมตร ทางฝั่งขวาของตัวเขื่อนมีประตูน้ำหรือประตูเรือสัญจร ซึ่งพระราชทานนามว่า “ประตูน้ำพระนเรศ” เพื่อให้เรือในแม่น้ำป่าสักผ่านขึ้นล่องได้ตามปกติ ทางฝั่งซ้ายของเขื่อน มีประตูระบายน้ำ ซึ่งพระราชทานนามว่า “ประตูระบายพระนารายณ์” เพื่อระบายน้ำแม่น้ำป่าสักที่ทดไว้เข้าสู่คลองระพีพัฒน์ ซึ่งเป็นคลองส่งน้ำสายใหญ่ ส่งน้ำลงมาทางใต้ถึงอำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี รวมความยาว 32 กิโลเมตร

             เนื่องจากคลองสายนี้ยาวมาก จึงได้สร้างอาคารอัดน้ำกลางคลองที่ระยะ 20.60 กิโลเมตรนับจากปากคลองส่งน้ำหรือที่ประตูระบายพระนารายณ์ และได้พระราชทานนามอาคารอัดน้ำและประตูเรือสัญจรแห่งนี้ว่า “พระเอกาทศรถ” เพื่อสามารถอัดให้ระดับน้ำในคลองระพีพัฒน์มีระดับสูงขึ้นพอที่จะเข้าคลองส่งน้ำที่ส่งไปยัง                แปลงนาบริเวณฝั่งขวาของคลองได้ตลอดฤดูกาลเพาะปลูก นอกจากนั้น เพื่อให้เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำอีกสายหนึ่งจึงได้สร้างประตูน้ำที่ฝั่งซ้ายของเขื่อนพระรามหกเหนือประตูระบายพระนารายณ์เพื่อให้เรือจากแม่น้ำป่าสักผ่านลงมาเข้าคลองระพีพัฒน์ไปยังอำเภอหนองแค ประตูน้ำหรือประตูเรือสัญจรแห่งนี้ได้พระราชทานนามว่า “ประตูน้ำพระรามา”

            ที่อำเภอหนองแค คลองระพีพัฒน์ได้ขุดแยกออกเป็นสองสาย สายหนึ่งแยกไปทางทิศตะวันตก เรียกว่า คลองระพีพัฒน์แยกตก กับอีกสายหนึ่งแยกไปทางใต้ เรียกคลองระพีพัฒน์แยกใต้ ที่ปากคลองระพีพัฒน์แยกตก มีประตูระบายน้ำพระราชทานนามว่า “พระศรีศิลป์” เพื่อระบายน้ำเข้าคลอง นำไปใช้ในการเพาะปลูกที่ทุ่งรังสิต และเพื่อมิให้น้ำไหลออกไปทางปลายคลองลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาเสียหมด จึงได้สร้างประตูระบายปลายคลองเพื่อปิดกั้นน้ำไว้และใช้ระบายน้ำออกเมื่อน้ำมากเกินความต้องการ หรือเปิดรับน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าคลองก็ได้ด้วย ประตูระบายปลายคลองนี้พระราชทานนามว่า “ประตูระบายพระอินทราชา” และเพื่อเป็นการคมนาคม ได้สร้างประตูเรือสัญจรหรือประตูน้ำไว้คู่กันด้วย ซึ่งประตูน้ำแห่งนี้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายว่า “ประตูน้ำพระอินทร์”

             ส่วนคลองระพีพัฒน์แยกใต้ที่ปากคลองตอนที่ตั้งต้นจากอำเภอหนองแค ก็คงมีประตูระบลายปากคลองเช่นเดียวกัน พระราชทานนามว่า “ประตูระบายพระศรีเสาวภาคย์” ทำหน้าที่ระบายน้ำที่เหลือใช้จากแม่น้ำป่าสักลงไปสู่ทุ่งเชียงรากคลองด่าน ซึ่งแต่เดิมบริเวณคลองด่านเคยเป็นพื้นที่ดินเค็มเพราะอยู่ชายทะเลระหว่าง                แม่น้ำเจ้าพระยากับแม่น้ำบางปะกง น้ำทะเลขึ้นถึงอยู่เสมอ เมื่อได้สร้างคันกั้นน้ำทะเล รวมทั้งอาคารบังคับน้ำจากจังหวัดสมุทรปราการ เลียบริมทะเลของอ่าวไทยไปจนถึงจังหวัดฉะเชิงเทราขึ้น แล้วใช้น้ำจืดจากแม่น้ำป่าสักค่อย ๆ ล้างดินเค็มเรื่อย ๆ ไปจนดินจืด ก็สามารถทำการเพาะปลูกได้ ซึ่งเป็นงานแปรสภาพดินอีกงานหนึ่งตามหน้าที่ที่ได้กำหนดไว้สำหรับกรมชลประทาน ตั้งแต่ พ.ศ.2470 ดังได้กล่าวมาแล้ว ทั้งนี้ เพราะประโยชน์ของเขื่อนพระรามหก ทำให้สามารถส่งน้ำเพื่อการเพาะปลูกของโครงการป่าสักได้เองในพื้นที่ 680,000 ไร่ และช่วยพื้นที่บริเวณโครงการเรียงรากคลองด่านบ้างบางส่วนจากพื้นที่ของโครงการนี้ทั้งหมด1,335,000 ไร่ เป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำ ช่วยลดอุทกภัยและมีน้ำใช้ในการอุปโภคบริโภคโดยไม่ขาดแคลน

            เป็นผลงานสำคัญของกรมทดน้ำ เดิมคือ “โครงการชลประทานป่าสักใต้” เริ่มดำเนินการในพ.ศ. 2457 สำเร็จได้ใน พ.ศ. 2466 โดยกรมทดน้ำได้ประกอบเครื่องเหล็กต่างๆ ทั้งบานประตูเหล็กสำหรับทำประตูระบายน้ำใหญ่ต้นคลองส่งน้ำ เคร่าเหล็ก และเครื่องสำหรับปิดเปิดบานประตูระบายน้ำอื่นๆ เครื่องเหล็กทำ                        สะพานบานประตูน้ำทางเรือสัญจรขึ้นเองในโรงงานของกรมทดน้ำที่กรุงเทพฯ ทั้งสิ้น

            โครงการชลประทานป่าสักใต้นี้ เมื่อแล้วเสร็จได้รับพระราชทานนามว่า “เขื่อนพระราม 6” เป็นโครงการชลประทานขนาดใหญ่ ที่ก่อสร้างขึ้นอย่างถูกต้องตามหลักวิศวกรรมศาสตร์แห่งแรกของประเทศไทย สร้างปิดกั้นแม่น้ำป่าสัก ที่ตำบลท่าหลวง อำเภอท่าเรือ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ทดน้ำส่งให้พื้นที่เพาะปลูกใน                    เขตโครงการชลประทานป่าสักใต้ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สระบุรี จนถึงทุ่งรังสิต จังหวัดปทุมธานีได้รวม 680,000 ไร่ เวลาเดียวกันกับการก่อสร้างเขื่อนพระราม 6 กรมทดน้ำยังดำเนินการก่อสร้าง “โครงการชลประทานเชียงราก – คลองท่าด่าน” เพื่อรักษาระดับน้ำในคลอง บริเวณพื้นที่ราบฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยาถึงแม่น้ำนครนายก ตั้งแต่ใต้คลองรังสิตจนถึงชายทะเล ไม่ให้น้ำในคลองไหลกลับลงสู่แม่น้ำในขณะที่น้ำในทุ่งมีน้อย รวมทั้งเพื่อบรรเทาอุทกภัยและระบายน้ำออกจากพื้นที่ เพื่อชะล้างความเค็มของดินแถบชายทะเลอีกด้วย

ที่ตั้ง : ต.ท่าหลวง อ. ท่าเรือ จ. อยุธยา