เขื่อนศรีนครินทร์

ความเป็นมา

เขื่อนศรีนครินทร์ เป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งแรกของโครงการพัฒนาลุ่มน้ำแม่กลองสร้างขึ้น บนแม่น้ำแควใหญ่ บริเวณบ้านเจ้าเณร ตำบลท่ากระดาน อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี นับเป็นเขื่อนแห่งที่ 8 ในจำนวน 17 แห่ง ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สร้างขึ้นเพื่อ อำนวยประโยชน์ทางด้านต่างๆ ตลอดจนช่วยพัฒนาชีวิต ความเป็นอยู่ของราษฎร และส่งเสริมให้เป็น แหล่งท่องเที่ยวที่สวยงาม

ลักษณะเขื่อนและโรงไฟฟ้า

เป็นเขื่อนประเภทหินถมแกนดินเหนียวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย มีความสูงจากฐานราก 140 เมตร สันเขื่อนยาว 610 เมตร กว้าง 15 เมตร พื้นที่อ่างเก็บน้ำ 419 ตารางกิโลเมตร มีความจุมากเป็นอันดับหนึ่งคือ 17,745 ล้านลูกบาศก์เมตร โรงไฟฟ้าเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าจำนวน 5 เครื่อง เครื่องที่ 1-3 กำลังผลิต เครื่องละ 120,000 กิโลวัตต์ เครื่องที่ 4-5 เป็นเครื่องกำเนิดไฟฟ้าระบบสูบกลับ กำลังผลิตเครื่องละ 180,000 กิโลวัตต์ รวมกำลังผลิตทั้งสิ้น 720,000 กิโลวัตต์ งานก่อสร้างเขื่อนศรีนครินทร์ เริ่มเมื่อปี 2516 แล้วเสร็จในปี 2523 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้เชิญพระนามาภิไธย สมเด็จพระศรีนครินทร์ มาขนานนามเขื่อน และเสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ไปทรงเปิดเขื่อน เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2524

ประโยชน์

เขื่อนศรีนครินทร์เป็นโครงการอเนกประสงค์ ซึ่งอำนวยประโยชน์ในด้านต่างๆ ดังนี้

  • ชลประทาน

    ช่วยส่งเสริมระบบชลประทาน โครงการแม่กลองใหญ่ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยมีเขื่อนแม่กลองของกรมชลประทานเป็นหัวงานทดน้ำเข้าสู่พื้นที่เกษตรได้ตลอดปีเป็นเนื้อที่ถึง 4,118 ล้านไร่

  • ผลิตไฟฟ้า

    สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เฉลี่ยปีละประมาณ 1,250 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง

  • บรรเทาอุทกภัย

    สามารถกักเก็บน้ำที่หลากมาในช่วงฤดูฝนไว้ในอ่างเก็บน้ำ ได้เป็นจำนวนมาก ช่วยบรรเทาอุทกภัยในเขตลุ่มน้ำแม่กลองให้ลดน้อยลง

  • คมนาคมทางน้ำ

    สามารถใช้เป็นเส้นทางเดินเรือขึ้นไปยังบริเวณอำเภอทองผาภูมิจังหวัดกาญจนบุรี และอำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ได้อย่างสะดวกและรวดเร็วขึ้น

  • ผลักดันน้ำเค็ม

    สามารถปล่อยน้ำลงผลักดันน้ำเค็มมิให้หนุนล้ำเข้ามาทำความเสียหายแก่พื้นที่บริเวณ ปากน้ำแม่กลองในช่วงฤดูแล้ง

  • ประมง

    เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดที่อุดมสมบูรณ์ ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับราษฎรอีกทางหนึ่งด้วย

การดูแลรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ด้านเศรษฐกิจ

เขื่อนศรีนครินทร์ สนองพระราชดำริในโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่ง กฟผ. ได้ดำเนิน การ โครงการดังกล่าว โดยน้อมนำแนวพระราชดำริปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดชมาปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรมมาอย่างยาวนาน และอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2542 เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการเกื้อกูลซึ่งกันและกันระหว่าง ธรรมชาติและการดำรงชีวิตของมนุษย์ โดยมุ่งเน้นการนำจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพมาใช้แทนสารเคมี ในการดำเนินงาน 4 กิจกรรม ได้แก่ การเกษตร การประมง การปศุสัตว์ และการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยการถ่ายทอดความรู้ให้แก่ราษฎร รอบๆโรงไฟฟ้าเพื่อให้เกิดการพึ่งพาตนเอง และลดค่าใช้จ่ายส่งผลให้เป็นชุมชนที่เข้มแข็ง นอกจากนี้ ยังมีการคัดเลือกบุคคลและกลุ่มเกษตรกรต้นแบบ คือ นายพัฒน์พงษ์ มงคลกาญจนคุณ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ในการจัดสร้างศูนย์เรียนรู้ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นศูนย์กลางแหล่งเรียนรู้ ถ่ายทอดองค์ความรู้ สามารถเป็นตลาดกลางรับสินค้าผลิตผล-ผลิตภัณฑ์การเกษตรให้กับชุมชนในพื้นที่ เป็นแหล่งศึกษาดูงาน ของประชาชนทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ณ หมู่ที่ 4 บ้านทุ่งนา ต.หนองเป็ด อ.ศรีสวัสดิ์ จ.กาญจนบุรี ตามแนวทางโครงการชีววิถีฯ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า

ด้านสังคม

วันที่ 15 มิถุนายน ของทุกปีเป็นวันครบรอบรัฐพิธีเปิดเขื่อนศรีนครินทร์ มีการสนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนโรงเรียนศรีสวัสดิ์พิทยาคม ระดับอุดมศึกษาที่มีภูมิลำเนาในพื้นที่ เพื่อเพิ่มโอกาสทางการศึกษา

ส่งเสริมสนับสนุน กีฬาหมากรุกไทยร่วมกับสมาคมหมากรุกสากลแห่งประเทศไทย และชมรมหมากรุกไทยตักกะศิลาดินแดง ให้กับโรงเรียนรอบโรงไฟฟ้า

ด้านสิ่งแวดล้อม

การดำเนินงานการมีส่วนร่วม ร่วมกับเครือข่ายในการจัดทำโครงการฟื้นฟูอนุรักษ์ป่าต้นน้ำลำธาร และป่าชุมชน กิจกรรมปลุกจิตสำนึกให้ความรู้ สร้างความเข้าใจตามศาสตร์พระราชา ว่าด้วยการสร้างฝาย ปลูกป่า ในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า

ของดีรอบเขื่อน

ปลาวุ้น พื้นที่หมู่ 5 บ้านเจาะเหลาะ ตำบลนาสวน อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี
ขมิ้นขาวดอง พื้นที่หมู่ 1 บ้านตีนตก (บ้านบึงชะโค) เทศบาลตำบลเขาโจด อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี
หน่อไม้สแน็ค พื้นที่หมู่ 5 บ้านโป่งหวาย ตำบลด่านแม่แฉลบ อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี
กล้วยตาก พื้นที่หมู่ 4 บ้านทุ่งนา ตำบลหนองเป็ด อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี
ไอศครีม ร้านอาหารเรือนธารา เขื่อนศรีนครินทร์

แหล่งท่องเที่ยวรอบเขื่อน

เขื่อนศรีนครินทร์นับเป็นแหล่งท่องเที่ยวพักผ่อนหย่อนใจที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งในจังหวัดกาญจนบุรี ให้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลินแก่ผู้มาเที่ยวชมปีละเป็นจำนวนกว่าแสนคน และก่อให้เกิดการขยายตัวทางการท่องเที่ยว อย่างกว้างขวาง เช่น แพท่องเที่ยวในอ่างเก็บน้ำ เป็นต้น

  • สวนเวลารำลึก

    สร้างขึ้นในศุภมงคลสมัยที่สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเจริญพระชนมายุ 90 พรรษา บนเนื้อที่ 30 ไร่ บริเวณเชิงเขาริมอ่างเก็บน้ำ ใกล้ท่าเรือเขื่อนศรีนครินทร์ เริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนเมษายน 2533 แล้วเสร็จ เดือนมีนาคม 2534ด้วยรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และตระหนักในพระราชจริยาวัตรของสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีที่ทรงยึดถือปฏิบัติ อีกทั้งแสดงออกให้ประจักษ์โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของเวลา ทรงเชื่อมั่นว่าเวลาเป็นของมีค่า จึงควรใช้เวลาให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่ในการออกแบบสวนจึงเลือกนาฬิกาแดดเป็นสัญลักษณ์ เพื่อสื่อความสัมพันธ์เกี่ยวกับกาลเวลา นอกจากนี้ ยังได้แต่งเติมเสริมสร้างสิ่งตกแต่งต่างๆ ให้เป็นองค์ประกอบที่สมบูรณ์แบบของสวน เฉลิมพระเกียรติแห่งนี้

  • นาฬิกาแดดและวิธีการอ่าน

    นาฬิกาแดดเป็นประติมากรรมสร้างขึ้นด้วยคอนกรีตเสริมเหล็ก วัดตามแนวโค้งยาว 23.80 เมตร ส่วนกว้างที่สุด 9.95 เมตร ส่วนแคบที่สุด 6.25 เมตร หนา 0.80 เมตร เข็มรับแสงอาทิตย์ทำให้เกิดเงา หล่อด้วยโลหะผสมขนาดยาว 6.5 เมตร กว้าง 1 เมตร ตั้งหันหน้าลงทิศใต้ แผ่นหน้าปัดเอียง 28.6 องศาที่เส้นรุ้ง 140 24' 32" เหนือ เส้นแวง 99 7' 36" ตะวันออก บนผิวหน้าปัดปิดด้วยกระเบื้องเคลือบ สีเทาขาวประกอบด้วยสัญลักษณ์และอักษรย่อบอกเดือนต่างๆ

    • เส้นสีน้ำเงินแก่บอกเดือนมกราคม - มิถุนายน
    • เส้นสีน้ำเงินอ่อนบอกเดือนกรกฎาคม - ธันวาคม
    • เส้นสีแดงเข้มบอกเวลาของเดือนมกราคม - มิถุนายน
    • เส้นสีเหลืองบอกเวลาของเดือนกรกฎาคม - ธันวาคม

    ตัวเลข 07.00 น. ถึง 18.00 น. ปลายเส้นสีแสด และสีส้ม บอกชั่วโมงเงาจากปลายเข็มจะทาบลง ที่พื้นหน้าปัดให้ดูเวลาเดือน และฤดูกาลตามเส้นทางต่างๆ

แหล่งท่องเที่ยวใกล้เคียง

กาญจนบุรีเป็นดินแดนแห่งประวัติศาสตร์และธรรมชาติอันงดงามที่ท้าทาย และดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือน การมาเที่ยวชมเขื่อนจึงสามารถแวะชมสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆที่อยู่ใกล้เคียงได้มากมายดังนี้

  • สะพานข้ามแม่น้ำแคว

    หรือทางรถไฟสายสันติภาพ เป็นสถานที่ทางประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่ที่สะท้อน ให้เห็นถึงความโหดร้ายทารุณในสมัยสงครามโลก ครั้งที่ 2 อยู่ห่างจากตัวเมืองไปทางทิศเหนือประมาณ 4 กิโลเมตร บริเวณใกล้เคียงกับสะพานนั้นมีหัวรถจักรเก่า ซึ่งเคยใช้งานในเส้นทางสายนี้เมื่อสมัยสงครามฯไว้ให้ชมอีกด้วย

  • น้ำตกเอราวัณ

    เป็นน้ำตกที่ใหญ่และสวยงาม มีถึง 7 ชั้น ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติเอราวัณ บนฝั่งแม่น้ำแควใหญ่ ปัจจุบันการเดินทางไปสะดวกมาก โดยผ่านทางตลาด เขื่อนศรีนครินทร์แล้วเลี้ยวซ้าย ตรงไปอีก 3 กิโลเมตร

  • ถ้าพระธาตุ

    ภายในถ้ำเป็นหินงอกหินย้อยลัดเหลี่ยมกันสวยงาม การเดินทางไปต้องผ่านเข้าในเขตเขื่อนศรีนครินทร์ก่อน แล้วเลี้ยวซ้ายแยกขึ้นเขาไปตามถนนลูกรังประมาณ 8 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวควรใช้ ความระมัดระวังในการขับรถให้มาก และควรติดต่อเจ้าหน้าที่ป่าไม้ ณ ที่ทำการซึ่งตั้งอยู่เชิงเขาให้เป็นผู้นำทางเข้าชมภายในถ้ำด้วย

  • น้ำตกศรีนครินทร์ (น้ำตกห้วยแม่ขมิ้น)

    เป็นน้ำตกที่ไหลบ่าลงมาซอยเป็นชั้นๆผ่านหินงอกหินย้อยแลดูเป็นม่านงดงามยิ่ง ทั่วบริเวณร่มรื่นด้วยพันธุ์ไม้นานาชนิด สามารถเดินทางไปได้ทั้งทางรถยนต์และทางเรือ

เส้นทางคมนาคม

เขื่อนศรีนครินทร์ อยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 200 กิโลเมตร สามารถเดินทางแบบ เช้าไปเย็นกลับ หรือแบบพักแรมตามใจชอบการเดินทางโดยรถยนต์ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงครึ่ง ไปตามถนนสายเพชรเกษมหรือสาย พุทธมณฑล ผ่านอำเภอนครชัยศรี-จังหวัดนครปฐม อำเภอบ้านโป่ง-ท่ามะกา-ท่าเรือ เข้าสู่จังหวัด กาญจนบุรี แล้วเดินทางต่อ ไปตามทางหลวงหมายเลข 3199 ผ่านตำบลลาดหญ้า และเขื่อนท่าทุ่งนา อีกเป็นระยะทาง 64 กิโลเมตร ก็จะถึงเขื่อนศรีนครินทร์ หากเดินทางโดยรถโดยสารประจำทางกรุงเทพฯ-กาญจนบุรี หรือโดยรถไฟสายท่องเที่ยวจากสถานี รถไฟบางกอกน้อย ก็สามารถต่อรถโดยสารประจำทางที่ท่ารถในอำเภอเมือง มาลงปลายที่ตลาด เขื่อนศรีนครินทร์ แล้วจ้างเหมารถยนต์รับจ้างให้พาเที่ยวชมเขื่อนและบริเวณโดยรอบก็สะดวกเช่นกัน

ที่ตั้ง อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี


 
 

 

 
 

สรุป

เขื่อนศรีนครินทร์ ก่อกำเนิดขึ้นเพื่ออำนวยประโยชน์ต่อชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชน และการพัฒนาประเทศ ปัจจุบันได้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว และสถานที่พักผ่อนที่สำคัญแห่งหนึ่ง ในจังหวัดกาญจนบุรี แต่ละปีจะมีนักทัศนาจรหลั่งไหลเข้าไปเที่ยวชมอย่างมากมาย ตลอดจนเป็นสถานที่เชิดหน้าชูตาของประเทศไทยอีกแห่งหนึ่งเขื่อนแห่งนี้จึงเป็นสมบัติของประชาชนชาวไทยทั้งชาติที่จะคงอยู่เพื่ออำนวยประโยชน์ไปชั่วกาลนาน