เขื่อนวชิราลงกรณ์

ความเป็นมา

เขื่อนวชิราลงกรณ เป็นโครงการหนึ่งของแผนพัฒนาลุ่มน้ำแม่กลองและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้พัฒนาให้สามารถผลิตไฟฟ้า เพื่ออำนวยประโยชน์ให้กับประชาชนเพิ่มมากขึ้น เขื่อนวชิราลงกรณจึงจัดเป็นเขื่อนอเนกประสงค์อีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย

สถานที่ตั้ง

444 หมู่ 1 ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี 71180

 
 

 

 
 

ลักษณะเขื่อนและโรงไฟฟ้า

เขื่อนวชิราลงกรณเป็นเขื่อนหินถมแห่งแรกของประเทศไทยที่ดาดผิวหน้าด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กตั้งอยู่บนแม่น้ำแควน้อยในท้องที่ ตำบลท่าขนุน อำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี อยู่ห่างจากตัวอำเภอไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ประมาณ 6 กิโลเมตร เขื่อนวชิราลงกรณมีความสูงจากฐาน 92 เมตรสันเขื่อนกว้าง 10 เมตร ยาว 1,019 เมตร สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (รทก.) 161.75 เมตร ปริมาตรตัวเขื่อนประมาณ 8.1 ล้านลูกบาศก์เมตร

อ่างเก็บน้ำ

อยู่ในท้องที่อำเภอท้องผาภูมิ และอำเภอสังขละบุรีของจังหวัดกาญจนบุรี มีพื้นที่รับน้ำฝน 3.720 ตารางกิโลเมตร ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเฉลี่ยประมาณปีละ 5,500 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีปริมาตรเก็บกักสูงสุดปกติ 8,860 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ระดับ 155.0 เมตร (รทก.)

โรงไฟฟ้า

เป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาดกำลังผลิตเครื่องละ 100,000 กิโลวัตต์ จำนวน 3 เครื่อง รวมกำลังผลิต 300,000 กิโลวัตต์ ให้พลังงานเฉลี่ยปีละ 777 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง การก่อสร้างเริ่มในเดือนมีนาคม 2522 แล้วเสร็จในปี 2527 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีและ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนเขาแหลม อย่างเป็นทางการ ในวันพฤหัสบดีที่ 9 มกราคม พ.ศ.2529 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนาม “เขื่อนวชิราลงกรณ” ตามพระนามาภิไธยในสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณบดินทรเทพยวรางกูร แทน ชื่อ “เขื่อนเขาแหลม” เมื่อวันศุกร์ที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2544

ประโยชน์

เขื่อนวชิราลงกรณ นอกจากสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าแล้วยังอำนวยประโยชน์ในด้านอื่นๆ เช่น ช่วยบรรเทาอุทกภัย ซึ่งโดยปกติน้ำในฤดูฝน ทั้งในลำน้ำแควน้อย และแควใหญ่จะมีปริมาณมาก เมื่อไหลมารวมกันจะทำให้เกิดน้ำท่วม ลุ่มแม่น้ำแม่กลองเป็นประจำ หลังจากได้ก่อสร้างเขื่อนศรีนครินทร์และเขื่อนวชิราลงกรณแล้วเสร็จ อ่างเก็บน้ำของเขื่อนทั้งสองจะช่วยเก็บกักไว้เป็นการบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่ดังกล่าวอย่างถาวร

    • ด้านการชลประทานและการเกษตร

      ทำให้มีแหล่งน้ำถาวรเพิ่มขึ้นอีกแห่งหนึ่ง เพื่อช่วยเสริมระบบชลประทานในพื้นที่ของโครงการแม่กลองใหญ่ โดยเฉพาะทำการเพาะปลูกในฤดูแล้งจะได้ผลผลิตการเกษตรเพิ่มขึ้น

    • ด้านการประมง

      อ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนเหมาะสำหรับเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดได้เป็นอย่างดี และยังช่วยเพิ่มพูนรายได้ให้แก่ประชาชนอีกทางหนึ่งด้วย

สำหรับประโยชน์ที่นับว่าสำคัญอีกประการหนึ่งคือ ช่วยต้านน้ำเค็มและน้ำเสียในฤดูแล้งรวมทั้งยังมีน้ำเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมของสองฝั่งแม่กลองอีกส่วนหนึ่ง และจากการปล่อยน้ำจากเขื่อนเพิ่มขึ้น ในฤดูแล้งจะช่วยขับไล่น้ำเสียและผลักดันน้ำเค็มทำให้สภาพน้ำในแม่น้ำแม่กลองมีคุณภาพดีขึ้น

นอกจากนี้ เขื่อนวชิราลงกรณยังเป็นเส้นทางคมนาคมทางน้ำ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญที่สวยงามอีกแห่งหนึ่งของประเทศไทย ในแต่ละปีจะมีนักทัศนาจรทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมาเยี่ยมชมกันเป็นจำนวนมาก

การดูแลด้านสังคม

กฟผ. ได้ช่วยเหลือราษฎรที่ได้รับผลกระทบ จำนวน 1,860 ครัวเรือน ในท้องที่อำเภอทองผาภูมิ และอำเภอสังขละบุรี อพยพไปอยู่ในที่จัดสรรแห่งใหม่ โดยจัดสรรที่ดินพร้อมที่ทำกิน จ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินและทรัพย์สิน รวมทั้งก่อสร้างสาธารณูปโภคและสาธารณูปการครบครันนอกจากนี้ กฟผ. ได้มอบเงินจำนวน 18 ล้านบาท จัดตั้งสหกรณ์การเกษตรขึ้น 5 แห่งในหมู่บ้านอพยพ จ่ายเงินช่วยเหลือราษฎร ในการดำรงชีพในระยะแรก แนะนำการส่งเสริมเกษตรแผนใหม่ เช่น การปลูกพืชเมืองหนาว และยางพารา เป็นต้น รวมทั้งแนะนำให้รู้จักการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำและการใช้ ประโยชน์จากทรัพยากรได้ถาวรตลอดไป

การเดินทาง

จากกรุงเทพฯ ใช้ทางหลวงหมายเลข 4 มุ่งหน้าจังหวัดราชบุรี ระยะทางประมาณ 65 กิโลเมตร และใช้ทางหลวงหมายเลข 323 ต่อเนื่องทางหลวงหมายเลข 3272 มุ่งหน้าอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี ระยะทางประมาณ 300 กิโลเมตร ทางเข้าเขื่อนวชิราลงกรณอยู่ทางขวามือ

สถานที่ท่องเที่ยว

ตามเส้นทางสู่เขื่อนวชิราลงกรณ มีสถานที่ท่องเที่ยว ทั้งตามธรรมชาติและที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีมากมาย อาทิ

  • พิพิธภัณฑ์สถานแห่งความทรงจำ (ช่องเขาขาด)

    สร้างขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างกองทัพไทยและรัฐบาลออสเตรเลีย ตั้งอยู่ในพื้นที่ของสำนักงานทหารพัฒนา บนทางหลวงหมายเลข 323 บริเวณกิโลเมตรที่ 64-65 มีส่วนจัดแสดง 2 ส่วน ส่วนแรกเป็นภายในอาคาร จัดแสดงมินิเธียเตอร์และรวบรวมข้อมูลภาพถ่าย ข้าวของเครื่องใช้ของเชลยศึก ในระหว่างการสร้างทางรถไฟสายมรณะในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่วนที่สองเป็นด้านนอกอาคาร บริเวณ “ช่องเขาขาด” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของทางรถไฟสายมรณะ ปัจจุบันยังมีร่องรอยของทางรถไฟเก่าปรากฏอยู่

  • ปราสาทเมืองสิงห์

    สร้างด้วยศิลาแลงศิลปะสมัยขอมบายน มีความงดงามมาก

  • น้ำตกไทรโยคใหญ่

    อยู่ห่างจากตัวจังหวัด 104 กิโลเมตร ด้านซ้ายมือของเส้นทางสู่ทองผาภูมิเป็นน้ำตกขนาดใหญ่ไหลลงสู่แม่น้ำแควน้อย นักท่องเที่ยวนิยมไปล่องแพกันนอกจากนี้ยังมีน้ำตกอีกหลายแห่งที่อยู่ในเขต อำเภอทองผาภูมิและอำเภอสังขละบุรี เช่นน้ำตกผาดาด น้ำตกทุ่งนางครวญ น้ำตกไดช่องถ่องและน้ำตกตะเคียนทอง เป็นต้น

  • น้ำตกไทรโยคน้อย

    หรือน้ำตกเขาพังเป็นน้ำตกขนาดเล็กแต่ดูสวยงามมาก เป็นน้ำตกที่ไหลจากหน้าผาข้างบนเป็นชั้นช่อ แล้วแยกออกเป็นหลายสายลงมารวมกันเป็นแอ่งน้ำเล็กๆ ด้านล่าง

  • น้ำพุร้อนหินดาด

    เป็นน้ำพุร้อนจากธรรมชาติ ค้นพบโดยทหารญี่ปุ่น ในสมัยสงครามโลกครั้ง 2 มีความเชื่อว่าน้ำแร่จากน้ำพุร้อนนอกจากจะช่วยให้ความผ่อนคลายแก่ร่างกายแล้วยังมีสรรพคุณช่วยรักษาโรคได้อรกด้วย

  • อำเภอทองผาภูมิ

    ห่างจากตัวเมืองกาญจนบุรี ประมาณ 150 กิโลเมตร แหล่งท่องเที่ยว อาทิ กราบพระ ภปร. วัดทองผาภูมิ ไหว้พระพุทธเจติยคีรีบนยอดเขา ชมสะพานแขวนหลวงปู่สายวัดท่าขนุน เจดีย์โบอ่อง ปิล็อก บ้านอีต่อง อุทยานแห่งชาติทองผาภูมิ เนินช้างศึก เขาช้างเผือก เหมืองสมศักดิ์ น้ำตกจ๊อกกระดิ่ง เป็นต้น

  • อำเภอสังขละบุรี

    ห่างจากตัวเมืองกาญจนบุรี ประมาณ 215 กิโลเมตร แหล่งท่องเที่ยว อาทิ น้ำตกเกริงกระเวีย จุดชมวิวป้อมปี่ อุทยานแห่งชาติเขาแหลม วัดสมเด็จ วัดวังก์วิเวการาม สะพานอุตตมานุสรณ์ หรือที่นิยมเรียกกันว่า สะพานมอญ ซึ่งเป็นสะพานไม้ที่ยาวที่สุดในประเทศไทย และยาวเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากสะพานไม้อูเบ็ง ในประเทศพม่า

ของดีรอบเขื่อน

  • สวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษาบรมราชินีนาถ

    ตั้งอยู่ทางซ้ายมือก่อนถึงปากทางเข้าเขื่อน หากมองจากภาพมุมสูง จะเห็นเป็นลายเสื่อกระจูดและลายผ้าตีนจก

  • สันเขื่อนวชิราลงกรณ

    ชมทะเลสาบน้ำจืดแห่งภาคตะวันตก โดยเปิดบริการให้นักเที่ยวมาเที่ยวชมฟรี ระหว่างเวลา 06.00-18.00น.

  • จุดถ่ายภาพทุ่งดอกทานตะวัน

    ตั้งอยู่ซ้ายมือก่อนถึงโรงไฟฟ้า มีที่จอดรถสะดวกสบาย และสามารถถ่ายรูปเห็นข้อความภาษอังกฤษขนาดใหญ่ซึ่งเป็นชื่อเขื่อนวชิราลงกรณได้อย่างชัดเจน

สรุป

เขื่อนวชิราลงกรณเป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ที่สามารถผสมผสานไปกับความงามตามธรรมชาติ ของภูมิประเทศ ได้อย่างเหมาะสม จัดเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจ ควรค่าแก่การเยี่ยมชมแห่งหนึ่งของอำเภอทองผาภูมิ จังหวัดกาญจนบุรี