เขื่อนสิรินธร

ความเป็นมา

เขื่อนสิรินธรเป็นเขื่อนอเนกประสงค์ที่มีความสำคัญยิ่งแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นอกจากจะให้ประโยชน์ทางด้านการผลิตพลังงานไฟฟ้าแล้ว ยังอำนวยประโยชน์นานัปการต่อการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนในภูมิภาคแถบนี้ทั้งทางด้านการชลประทาน การป้องกันอุทกภัย การประมง และการท่องเที่ยว นับเป็นการสงวนและใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดอย่างสอดคล้องกับการพัฒนาประเทศในยุคปัจจุบัน

ลักษณะเขื่อนและโรงไฟฟ้า

เขื่อนสิรินธร เป็นเขื่อนประเภทหินถมแกนดินเหนียวสร้างปิดกั้นแม่น้ำลำโดมน้อยอันเป็นสาขาของแม่น้ำมูล ที่บริเวณแก่งแซน้อย ต.ช่องเม็ก อ.พิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี (ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ ต.นิคมสร้างตนเองลำโดมน้อย อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี)

ตัวเขื่อน

มีความสูง 42 เมตร ยาว 940 เมตร สันเขื่อนกว้าง 7.5 เมตร อ่างเก็บน้ำมีพื้นที่ประมาณ 288 ตารางกิโลเมตรสามารถกักเก็บน้ำได้ 1,966.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ระดับกักเก็บน้ำสูงสุด +142.2 ม.รทก.

โรงไฟฟ้า

ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 3 เครื่อง ขนาดกำลังผลิตเครื่องละ 12,000 กิโลวัตต์ รวมกำลังผลิตทั้งสิ้น 36,000 กิโลวัตต์

การก่อสร้างโครงการ

ได้เริ่มในเดือนมิถุนายน 2511 และมีการวางศิลาฤกษ์เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2512 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯพระราชทาน พระบรมราชานุญาตให้เชิญพระนามของ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ขนานนาม เขื่อนว่า “เขื่อนสิรินธร” การก่อสร้างตัวเขื่อนและระบบส่งไฟฟ้า ระยะแรกแล้วเสร็จในปี 2514 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิด เขื่อนสิรินธรเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2514 หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2515 สำนักงานคณะกรรมการ นโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้มอบเขื่อนสิรินธรให้อยู่ในความรับผิดชอบดูแลของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ต่อไป

ประโยชน์

เขื่อนสิรินธร เป็นโครงการอเนกประสงค์จึงสามารถอำนวยประโยชน์อย่างกว้างขวางในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ดังนี้

  • การผลิตพลังงานไฟฟ้า

    สามารถใช้พลังน้ำมาผลิตพลังงานได้เฉลี่ยปีละ 90 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง ทำให้ขยายขอบเขตการจ่ายกระแสไฟฟ้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือออกไปได้กว้างขวางขึ้น

  • การชลประทาน

    สามารถส่งน้ำที่เก็บกักไว้ในอ่างเก็บน้ำไปใช้ในระบบชลประทานได้เป็นพื้นที่ 152,000 ไร่ จึงช่วยให้เกษตรกรในแถบนนี้ทำการเพาะปลูกได้ตลอดปี

  • บรรเทาอุทกภัย

    เขื่อนสิรินธรสามารถกักเก็บน้ำที่ไหลบ่ามาตามแม่น้ำลำโดมน้อยไว้ได้เป็นจำนวนมาก จึงช่วยป้องกันปัญหาน้ำท่วมและช่วยให้แม่น้ำมูลสามารถระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงได้สะดวกยิ่งขึ้น

  • การประมง

    อ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธร เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดขนาดใหญ่โดย กฟผ. ร่วมมือกับกรมประมง นำพันธ์ปลาน้ำจืดขนาดใหญ่มาปล่อย อาทิ ปลายี่สก ปลานิล ปลาไน ฯลฯ และกุ้งก้ามกรามทำให้ราษฎรมีอาชีพหลักเพิ่มขึ้น

  • การคมนาคม

    สามารถใช้อ่างเก็บน้ำเป็นเส้นทางเดินเรือติดต่อค้าขายและคมนาคมขนส่งผลผลิตออกสู่ตลาดได้สะดวกอีกทางหนึ่ง

  • การท่องเที่ยว

    ความสวยงามสงบร่มรื่นของภายในบริเวณเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ เป็นสิ่งดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวชมและพักผ่อนหล่อนใจ เป็นจำนวนมากก่อให้เกิดการขยายตัวทางด้านธุรกิจท่องเที่ยวอื่นๆตามไปด้วย

สวนสิรินธร

เป็นสวนเฉลิมพระเกียรติที่ กฟผ. จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นการถวายความจงรักภักดี และถวายเป็นราชสักการะต่อองค์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในวโรกาสคล้ายวัน พระราชสมภพทรงมี พระชนมายุ 36 พรรษาเมื่อวันที่ 2 เมษายน 2534 โดยจัดเป็นสวนสาธารณะอันร่มรื่นงดงามเพื่อให้สาธารณชน ได้พักผ่อนหย่อนใจ และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กฟผ. ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างสวนนี้ เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2533 แล้วเสร็จในเดือนกรกฎาคม 2534 รวมค่าใช้จ่ายประมาณ 4.40 ล้านบาท สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนิน เปิดสวนสิรินธรเมื่อวันที 6 ตุลาคม 2534 สวนแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณอ่างเก็บน้ำฝั่งซ้ายของสันเขื่อนสิรินธรมีพื้นที่ประมาณ 40 ไร่ โดยออกแบบก่อสร้าง ให้มีลักษณะเป็นสวนป่าที่คงสภาพสิ่งแวดล้อม และธรรมชาติไว้ได้มากที่สุด การใช้วัสดุอุปกรณ์ตกแต่งสถานที่เน้นให้กลมกลืนกับพื้นที่เดิมภายในสวนสิรินธร ประกอบด้วยสวนพฤกษศาสตร์ สวนน้ำพุศาลาพักผ่อน และพันธุ์ไม้ดอก โทนสีม่วงซึ่งเป็นสีประจำวันพระราชสมภพคือวันเสาร์ประดับไว้โดยรอบ พร้อมกับตัดแต่งต้นไม้เป็น ตัวอักษร “สธ” อันเป็นพระราชลัญจกรประจำพระองค์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี นอกจากนี้ยังมีประติมากรรมรูปหล่อเป็นช้าง 3 เชือกเล่นดนตรี ซึ่ง เครื่องดนตรีที่สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารีทรงโปรดปราน อันได้แก่ ระนาด ซอ และขลุ่ย

สถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียง

เพื่อให้การมาเยือนเขื่อนสิรินธรได้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลินอย่างเต็มที่ ท่านสามารถแวะชมสถานที่ท่องเที่ยวใกล้เคียงภายในจังหวัดอุบลราชธานีได้อีกหลายแห่ง เช่น วัดสิรินธรวราราม (วัดภูพร้าว) แก่งสะพือ แก่งตะนะ น้ำตกตาดโตน แม่น้ำสองสีหรือดอนด่านปากน้ำมูล น้ำบุ้น และผาแต้ม

เส้นทางคมนาคม

เขื่อนสิรินธรอยู่ห่างจากกรุงเทพฯ ประมาณ 800 กิโลเมตร การเดินทางโดยรถยนต์ใช้เส้นทางไปตามถนนสายมิตรภาพประมาณ 737 กิโลเมตร มุ่งสู่จังหวัดอุบลราชธานี แล้วใช้ทางหลวงหมายเลข 217 เข้าสู่อำเภอพิบูลมังสาหาร จากนั้นไปตามเส้นทางพิบูลมังสาหาร-ช่องเม็กเข้าสู่เขื่อนสิรินธร นอกจากนี้สามารถเดินทางได้โดยรถโดยสาร ปรับอากาศหรือรถไฟ แต่ถ้าต้องการความสะดวกสบายและรวดเร็วก็สามารถใช้บริการสายการบินภายในประเทศได้

ที่ตั้ง ตำบลช่องเม๊ก อำเภอสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี

 
 

 

 
 

สรุป

เขื่อนสิรินธรเป็นเขื่อนที่มีความสำคัญยิ่งแห่งหนึ่งในการพัฒนาประเทศและความเป็นอยู่ของประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ภูมิใจที่เขื่อนแห่งนี้ได้มีส่วนในการยกระดับมาตรฐานการครองชีพของประชาชนให้ดีขึ้น และผลักดันให้ภูมิภาคแถวนี้ก้าวไปสู่ความเจริญก้าวหน้าในทุกๆด้านสมควร เป็นมรดกอันมีค่าของประชาชนและประเทศชาติสืบไป