เขื่อนจุฬาภรณ์

ความเป็นมา

โครงการน้ำพรม ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ให้ดำเนินการก่อสร้างเมื่อวันที่ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2512 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตห่างประเทศไทย (กฟผ.) ได้เริ่มดำเนินการก่อสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้า เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2513 งานก่อสร้างแล้วเสร็จและสามารถจ่ายไฟฟ้าได้ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2515 เป็นต้นมา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนและโรงไฟฟ้า เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2516 พร้อมทั้ง พระราชทานพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี ขนานนามเขื่อนว่า เขื่อนจุฬาภรณ์

ลักษณะเขื่อนและโรงไฟฟ้า

ลักษณะเขื่อน

เขื่อนจุฬาภรณ์ มีลักษณะเป็นแบบหินถมแกนกลางเป็นดินเหนียวบดอัดทับแน่นด้วยหินและกรวด ตัวเขื่อนยาว 700 เมตร สันเขื่อนกว้าง 8 เมตร สูง 70 เมตร ระดับสันเขื่อนอยู่ที่ 763.0 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง (รทก.) อ่างเก็บน้ำมีความจุ 163.75 ล้านลูกบาศก์เมตร

โรงไฟฟ้า

โรงไฟฟ้าตั้งอยู่บริเวณเข้าใกล้กับลำน้ำสุ ซึ่งอยู่อีกฟากหนึ่งของตัวเขื่อนในการผลิตไฟฟ้า กฟผ. ทำการชักน้ำจากหน้าเขื่อนบริเวณฝั่งซ้ายของลำน้ำผ่านอุโมงค์ซึ่งเจาะทะลุภูเขาไปหมุนเครื่องกังหันน้ำ ที่ตั้งอยู่ในหุบเขาอีกด้านหนึ่งโรงไฟฟ้าติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 20,000 กิโลวัตต์ จำนวน 2 เครื่อง รวม กำลังผลิต 40,00 กิโลวัตต์ ให้พลังงานไฟฟ้าเฉลี่ยปีละ 57 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง

ประโยชน์

เขื่อนจุฬาภรณ์ เป็นเขื่อนที่มีความสำคัญมากอีกเขื่อนหนึ่งต่อการพัฒนาพลังงานไฟฟ้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สามารถตอบสนองความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชนได้อย่างเพียงพอ เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ที่ให้ประโยชน์ต่อการชลประทานช่วยระบายน้ำเพื่อการเพาะปลูกในฤดูแล้งในพื้นที่การเกษตรตามลำน้ำพรม ประมาณ 50,300 ไร่ และตามลำน้ำเชิญ ประมาณ 20,800 ไร่ นอกจากนี้ อ่างเก็บน้ำยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดที่สำคัญแห่งหนึ่งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งบริเวณโดยรอบของที่ตั้งตัวเขื่อนมีทิวทัศน์สวยงามมาก มีอากาศเย็นสบายตลอดปี จนได้สมญาว่าเป็น “สวิตเซอร์แลนด์ของประเทศไทย” เขื่อนจุฬาภรณ์ จึงเป็นสถานที่ที่นักท่องเที่ยวนิยมมาพักผ่อนอีก แห่งหนึ่งของภูมิภาคนี้

เขื่อนห้วยกุ่ม

ห่างจากเขื่อนจุฬาภรณ์ลงไปทางใต้ประมาณ 40 กิโลเมตร ในพื้นที่ตำบลหนองโพนงาม อำเภอเกษตรสมบูรณ์ จังหวัดชัยภูมิ เป็นที่ตั้งของเขื่อนห้วยกุ่ม ที่ก่อสร้างขึ้นอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงทราบถึงการขาดแคลนน้ำของพื้นที่การเกษตร บริเวณลุ่มน้ำพรมตอนล่างเขื่อนห้วยกุ่มก่อสร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2521 แล้วเสร็จเมื่อต้นปี พ.ศ. 2523 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อนและโรงไฟฟ้า เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2523 โรงไฟฟ้ามีขนาดกำลังผลิต 1,300 กิโลวัตต์ อ่างเก็บน้ำมีความจุ 20.23 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถระบายน้ำช่วยพื้นที่การเกษตรในการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งของอำเภอเกษตรสมบูรณ์ และอำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ พื้นที่ประมาณ 50,300 ไร่

เขื่อนพรมธารา

กฟผ. ได้สร้างเขื่อนขนาดเล็กขึ้นชื่อ เขื่อนพรมธารา ปิดกั้นลำห้วยฝั่งซ้ายของเขื่อนจุฬาภรณ์ ห่างออกไปประมาณ 500 เมตร เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2524 การก่อสร้างแล้วเสร็จ ในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2524 สามารถชักน้ำเพิ่มปริมาณน้ำที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำของเขื่อนจุฬาภรณ์ได้ปีละประมาณ 2 ล้านลูกบาศก์เมตร

สถานที่ท่องเที่ยว

จากการที่บริเวณรอบ ๆ เขื่อนจุฬาภรณ์ เป็นพื้นที่ที่มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ สภาพอากาศเย็นสบายตลอดทั้งปี เป็นศูนย์รวมของสถานที่ท่องเที่ยวทั้งภายในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียงเขื่อนจุฬาภรณ์ ที่มีเส้นทางการเดินทางสะดวก ปลอดภัย นอกจากนี้ การเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ๆ ในจังหวัดชัยภูมิ มีระยะทางไม่ไกลเมื่อเริ่มต้นเดินทางจากเขื่อนจุฬาภรณ์ จึงมีนักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชม เฉลี่ยปีละไม่น้อยกว่า 800.000 คน หากนับตั้งแต่ปี 2516 จนถึงปัจจุบัน
  • พระพุทธสิริสัตตราชจำลอง (หลวงพ่อเจ็ดกษัตริย์) ประดิษฐานที่บริเวณหัวเขื่อนฝั่งซ้าย พระพุทธรูปที่มีความศักดิ์สิทธิ์เป็นที่เคารพนับถือของ

  • พืชโบราณ 325 ล้านปี เป็นพืชตระกูลหญ้ามี 2 สายพันธุ์ คือ สามร้อยยอด และสนหางม้า หรือหญ้าถอดปล้อง

  • ศาลาชมวิวหลุบควน (ทะเลหมอก) เป็นจุดชมวิวอยู่ที่ระดับความสูง 800 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง

  • ทุ่งกะมัง อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขียว ห่างจากเขื่อนจุฬาภรณ์ประมาณ 30 กิโลเมตร

  • สถานีวิจัยการเพาะเลี้ยงพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว

  • อยู่ห่างจากเขื่อนจุฬาภรณ์ประมาณ 7 กิโลเมตร

  • สวนรุกขชาติน้ำผุดทับลาว

    อยู่ห่างจากเขื่อนจุฬาภรณ์ประมาณ 35 กิโลเมตร

  • ถ้ำค้างคาวภูผาม่าน

    อยู่ในเขตอำเภอภูผาม่าน จังหวัดขอนแก่น ห่างจากเขื่อนจุฬาภรณ์ 54 กิโลเมตร

  • อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม

    ตั้งอยู่บริเวณเทือกเขาพังเหย ตำบลบ้านไร่ อำเภอเทพสถิต จังหวัดชัยภูมิ ห่างจากเขื่อนจุฬาภรณ์ 260 กิโลเมตร โดยมีสถานที่ที่สวยงามมากมาย เช่น ป่าหินงามจันทร์แดง และทุ่งดอกกระเจียวบริเวณป่าหินงาม ทุ่งโขลงช้าง เป็นต้น

  • ป่าหินงามจันทร์แดง

    เป็นลานหินกว้างที่มีก้อนหินรูปร่างลักษณะแปลกพิสดารต่างๆ จำนวนมมาก โดยมีต้นจันทร์แดงเจริญเติบโตบนโขดหินก้อนใหญ่โดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่

  • ทุ่งดอกกระเจียวบริเวณป่าหินงามทุ่งโขลงช้าง

    ตามซอกหินสลับกับต้นไม้นานาชนิด มีทั้งดอกสีชมพูและสีขาว รวมทั้งผากล้วยไม้ที่หน้าผาสูงลดหลั่นตามลำดับ โดยมีกล้วยไม้พันธุ์หายากหลายชนิด ขึ้นเป็นจำนวนมากตลอดผา

  • อุทยานแห่งชาติไทรทอง

    ตั้งอยู่ที่บ้านวังน้ำเขียว ตำบลวังตะเฆ่ อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ห่างจากเขื่อนจุฬาภรณ์ 230 กิโลเมตร โดยมีสถานที่ที่สวยงามมากมาย เช่น น้ำตกไทรทอง น้ำตกชวนชม ผาพ่อเมือง ผาหำหด ทุ่งบัวสวรรค์ หรือทุ่งดอกกระเจียว เป็นต้น

  • มอหินขาว

    ตั้งอยู่ในอุทยานแห่งชาติภูแลนคา บริเวณบ้านวังคำแคน ตำบลท่าหินโงม อำเภอเมืองชัยภูมิ ห่างจากเขื่อนจุฬาภรณ์ 114 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นหินก้อนใหญ่แปลกตา หาดูยาก รูปร่างคล้ายเห็ด เรือ ช้าง เต่า และเจดีย์ กระจายอยู่ทั่วไปบนเนินเขาสูงและยังมีเสาหินใหญ่ตั้งเรียงรายเป็นแถว นอกจากนี้ยังเป็นจุดชมวิวป่าหินปราสาท จุดชมวิวลานหินร่องกล้า ผาแพ เขาขาด และแม่น้ำชี เป็นต้น

เส้นทางคมนาคม

 
 

 

 
 

สรุป

เขื่อนจุฬาภรณ์ ช่วยส่งเสริมให้ระบบการผลิตและส่งกระแสไฟฟ้าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความมั่นคงยิ่งขึ้น กิจการต่างๆ ที่ต้องอาศัยไฟฟ้าประกอบการก็จะเกิดขึ้น หรือขยายออกไปเป็นการช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน เขื่อนแห่งนี้จึงอำนวยประโยชน์ ให้แก่ประชาชนอย่างแท้จริง