เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล

ความเป็นมา

เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เป็นเขื่อนที่สร้างขึ้นตามพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เดิมชื่อว่า เขื่อนแม่งัด ตัวเขื่อนสร้างปิดกั้นลำน้ำแม่งัด ที่บ้านใหม่ ตำบลช่อแล อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่

ลักษณะเขื่อนและโรงไฟฟ้า

เขื่อนแม่งัดเป็นเขื่อนดินถม สูง 59 เมตร ยาว 1,950 เมตร อ่างเก็บน้ำมีพื้นที่ 16 ตารางกิโลเมตร สามารถเก็บกักน้ำได้สูงสุด 265 ล้านลูกบาศก์เมตร

เขื่อนแม่งัดเริ่มก่อสร้างเมื่อปี พ.ศ. 2520 โดยกรมชลประทาน การก่อสร้างตัวเขื่อนแล้วเสร็จเมื่อปี พ.ศ. 2527 ต่อมา กฟผ. ได้เข้ามาดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำ ในปี พ.ศ. 2526 แล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2528 ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ขนาดกำลังผลิตเครื่องละ 4,500 กิโลวัตต์ จำนวน 2 เครื่อง รวมกำลังผลิตทั้งสิ้น 9,000 กิโลวัตต์ สามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ปีละ 28.75 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามเขื่อนว่า เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เมื่อวันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2529 และเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีเปิดเขื่อน เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2529

ปี 2551 ได้ติดตั้งโรงไฟฟ้าไมโครเทอร์ไบน์ จำนวน 2 เครื่อง 150 KW และ 200 KW รวม 350 KW ในปี 2559 ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด ตามกลไกการพัฒนาโครงการที่สะอาดได้ติดตั้งเครื่องกังหันน้ำขนาดเล็กทำการก่อสร้างโรงไฟฟ้าลำรางชลประทานฝั่งซ้าย 2 เครื่อง เครื่องละ 450 KW รวม 900 KW และโรงไฟฟ้า ลำรางชลประทานฝั่งขวา 2 เครื่อง เครื่องละ 500 KW รวม 1,000 KW ปัจจุบันโรงไฟฟ้าเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลมีกำลังผลิตทั้งสิ้น 11,250 KW เพื่อเสริมระบบความมั่นคงในการใช้ไฟฟ้าในจังหวัดเชียงใหม่

นอกจากภารกิจหลักในการผลิตพลังงานไฟฟ้าแล้ว ภารกิจที่สำคัญที่ดำเนินงานควบคู่ไปกับภารกิจหลักคือการดูแลชุมชน การสนับสนุนทุนการศึกษาแก่เยาวชน พัฒนาส่งเสริมอาชีพชุมชนในพื้นที่ ร่วมสืบสานประเพณีวัฒนธรรมท้องถิ่นและทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ ประเพณีเลี้ยงผีฝาย ที่เกษตกรมีความเชื่อว่าแม่น้ำแต่ละแห่งนั้นมีผู้คอยคุ้มครองและคอยดลบันดาลความอุดมสมบูรณ์ เกษตรกรจึงนำเครื่องบวงสรวงมาเซ่นไหว้ ผู้ที่ปกปักษ์รักษาแม่น้ำและผู้ที่ดลบันดาลความอุดมสมบูรณ์ให้แก่เกษตรกร อีกนัยหนึ่งการทำบุญเลี้ยงผีฝายเป็นการแสดงถึงความสำนึกในบุญคุณของแม่น้ำ ที่เกษตรกรได้อาศัยใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูก การอุปโภคและบริโภคในการ และร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้คนรุ่นต่อไปได้มีใช้เหมือนปัจจุบันบนคำกล่าว โดยยึดถือหลักการที่ว่า “กฟผ. อยู่ที่ไหน ชุมชนที่นั่นต้องมีความสุขอย่างยั่งยืน”

ที่ตั้ง